มะเร็งกระเพาะอาหาร เกิดจากการที่เซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหารมีการแบ่งจำนวนมากขึ้น อย่างผิดปกติ ทำให้เกิดเป็นมะเร็งขึ้นมา สามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของกระเพาะ เมื่อมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น จะเกิดการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง และสามารถกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ตับ ตับอ่อน ลำไส้ ปอด และรังไข่ได้ มีอาการและสาเหตุของโรคที่ควรรู้ โรคนี้สามารถตรวจพบด้วยการส่องกล้องกระเพาะอาหาร

มะเร็งกระเพาะอาหาร มีสาเหตุ อาการและวิธีรักษาอย่างไร

มะเร็งกระเพาะอาหาร มีอุบัติการณ์เป็นอันดับที่ 5 ของโรคมะเร็ง ทั้งหมด และถือเป็น สาเหตุการตายอันดับที่ 3 จากการตายจากโรคมะเร็งทั้งหมดทั่วโลก สำหรับประเทศไทย มะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับที่ 6 ในผู้ชาย และอันดับที่ 9 ในผู้หญิง โดยมีอุบัติการณ์ที่ 5 รายในประชากร 100,000 คน ถึงแม้จะพบได้ไม่บ่อย ในคนไทยแต่ผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารในประเทศไทย มักพบในระยะท้ายของโรค และมีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี

ปัจจัยเสี่ยง

  • อายุ
  • เพศ เพศชายมีความเสี่ยงมากกว่าเพศหญิง 2 เท่า
  • มีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
  • เชื้อชาติ พบในคนเอเชียโดยเฉพาะแถบเอเชียตะวันออก  (จีน เกาหลี และ ญี่ปุ่น ) ได้มากกว่าชนชาติผิวขาวกลุ่มประเทศยุโรปและอเมริกา
  • อาหาร โดยเฉพาะอาหารประเภทหมักดอง ตากเค็ม รมควันเพิ่มความเสี่ยงของโรค ได้มากขึ้นในขณะที่ การรับประทานผักและผลไม้สดอาจช่วยลดความเสี่ยงลงได้
  • การติดเชื้อ Helicobacter pylori เป็นเชื้อที่ทำให้เกิดการอักเสบ และแผลในกระเพาะอาหารได้ การติดเชื้อชนิดนี้ เพิ่มความเสี่ยงในการเกิด โรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้มากขึ้น
  • เคยได้รับการผ่าตัดกระเพาะอาหาร
  • พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ค่อยรับประทานผักและผลไม้
  • ภาวะอ้วน  ทำให้เกิดภาวะกรดไหลย้อนซึ่งเป็นสาเหตุของการอักเสบเรื้อรังของหลอด
  • อาหารและกระเพาะส่วนต้นทำให้มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งมากขึ้น

สาเหตุและปัจจัยที่กระตุ้น

  • มีประวัติป่วยเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร จากการได้รับเชื้อ Helicobacter pylori (H. pylori)
  • เคยเป็นโรคกรดไหลย้อน
  • เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง
  • มีอาชีพหรือใช้ชีวิตประจำวันที่สัมผัสกับฝุ่นและสารเคมีบางชนิด
  • การมีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานในเพศชาย (ในเพศหญิงยังไม่มีหลักฐานแน่ชัด)
  • มีบุคคลในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร
  • พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น สูบบุหรี่เป็นประจำ หรือได้รับควันบุหรี่มือสองอยู่เสมอ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กินอาหารแปรรูป หมักดอง ตากเค็ม รมควันเป็นประจำ ไม่กินผักและผลไม้

มะเร็งกระเพาะอาหาร

อาการโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

ในระยะแรกของโรคอาจไม่มีอาการแสดงที่เฉพาะและอาจมีอาการคล้ายโรคอื่นๆ เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหาร หรือกระเพาะอาหารอักเสบ ได้แก่ รู้สึกอาหารไม่ย่อยหรือ รู้สึกไม่สบายท้อง ท้องอืดหลังรับประทานอาหาร คลื่นไส้เล็กน้อย ไม่อยากรับประทานอาหาร มีอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอก และในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการลุกลามขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการดังต่อไปนี้ รู้สึกไม่สบายท้องโดยเฉพาะช่องท้องบริเวณส่วนบนและตรงกลาง มีเลือดปนในอุจจาระ อาเจียน โดยอาจมีอาเจียนเป็นเลือดได้ ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำคล้ำ น้ำหนักตัวลดลง ปวดท้องหรืออาเจียน เป็นอาหารที่กินเข้าไป เนื่องจากมีการอุดตันของกระเพาะอาหาร กลืนติด หรือทานอาหารได้ลดลง อ่อนเพลีย

มะเร็งกระเพาะอาหาร เกิดจากการแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหาร จึงทำให้ระบบการทำงานของกระเพาะอาหารเสียหาย นอกจากนี้มะเร็งกระเพาะอาหารรยังสามารถลุกลามหรือแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ได้ อาทิ ลำไส้ ตับ ตับอ่อน ต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น

สำหรับอาการเตือนโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร อาจแบ่งเป็นอาการในช่วงแรก เช่น

  • อาหารไม่ย่อย จึงรู้สึกไม่สบายท้อง
  • แสบร้อนบริเวณหน้าอก
  • ท้องอืดหลังรับประทานอาหาร
  • รู้สึกคลื่นไส้
  • เบื่ออาหาร

แต่เมื่อเป็นมากขึ้น มักมีอาการเพิ่มเติม ดังนี้

  • รู้สึกไม่สบายท้องบริเวณส่วนบนและส่วนกลาง
  • มีเลือดปนในอุจจาระ
  • อาเจียน หรืออาเจียนเป็นเลือด
  • อ่อนเพลีย และน้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ

การตรวจวินิจฉัยมะเร็งกระเพาะอาหาร

เบื้องต้นจะมีการซักประวัติและการตรวจร่างกาย ตรวจดูลักษณะก้อนและสิ่งผิดปกติในช่องท้อง ตรวจหาต่อมน้ำเหลืองบริเวณไหปลาร้า ตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ ตรวจเลือด ตรวจการทำงานของตับและไต เป็นต้น รวมถึงการตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติมได้แก่

  1. การส่องกล้องระบบทางเดินอาหารส่วนต้น (Gastroscopy) หรือส่องกล้องกระเพาะอาหาร เพื่อทำการตรวจประเมินรอยโรคภายในกระเพาะอาหาร หากตรวจพบสิ่งผิดปกติหรือสิ่งที่น่าสงสัยสามารถตัดชิ้นเนื้อเพื่อนำไปตรวจสอบทำให้สามารถวินิจฉัยมะเร็งในระยะแรกได้
  2. การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) เป็นการตรวจดูตำแหน่งของโรคและการกระจายของโรค ซึ่งการตรวจนี้จะแสดงภาพได้ละเอียดมากกว่าการเอกซเรย์ธรรมดา

แนวทางการรักษามะเร็งกระเพาะอาหาร

การรักษามะเร็งกระเพาะอาหารขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของก้อนเนื้อร้าย การกระจายไปอวัยวะอื่นๆ หรือไม่ และสุขภาพทั่วไปของผู้ป่วย โดยจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทีมแพทย์ในสาขาต่างๆ เช่น แพทย์ระบบทางเดินอาหาร ศัลยแพทย์ และแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็ง ทำการปรึกษาร่วมกันเพื่อวางแผนการรักษาที่ดีที่สุด ซึ่งการรักษาจะแบ่งตามระยะของโรค ดังนี้

  • ระยะเริ่มแรก

โดยที่มะเร็งอยู่เฉพาะชั้นเยื่อบุส่วนบนของกระเพาะอาหาร โดยทั่วไปมักจะไม่มีอาการ แต่ตรวจพบจากการตรวจส่องกล้องกระเพาะอาหารเมื่อมาตรวจสุขภาพ ซึ่งการรักษานั้นสามารถทำการการตัดผ่านกล้องส่องตรวจทางเดินอาหารเพียงอย่างเดียวได้ เนื่องจากมีโอกาสที่จะกระจายของมะเร็งไปที่ต่อมน้ำเหลืองน้อยมาก

  • ระยะลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองและอวัยวะใกล้เคียง

ซึ่งเป็นระยะที่พบบ่อยในผู้ป่วยคนไทย โดยมะเร็งจะมีการลุกลามเข้าสู่ชั้นเยื่อบุส่วนล่าง หรือ กล้ามเนื้อของกระเพาะอาหาร และมีการกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง ทำให้มีอาการอืดท้อง อาหารไม่ย่อย หรือ มีเลือดออกในกระเพาะ มาซักระยะหนึ่ง การรักษามะเร็งระยะนี้จะต้องทำการผ่าตัดกระเพาะอาหาร ร่วมกับการผ่าตัดเลาะเอาต่อมน้ำเหลืองโดยรอบออก จากนั้นเสริมการรักษาหลังผ่าตัดด้วยยาเคมีบำบัด เพื่อทำลายเซลล์มะเร้งที่เหลืออยู่ และลดการกลับเป็นซ้ำของมะเร็ง

  • ระยะแพร่กระจาย

ซึ่งมีการกระจายไปสู่อวัยวะอื่น ๆ เช่น ตับ ตับอ่อน ช่องท้อง ปอด หรือต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลออกไป แพทย์มักพิจารณาให้การรักษาด้วยเคมีบำบัด เพื่อลดขนาดของก้อนมะเร็ง ลดการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ แม้ว่าจะไม่หายขาด แต่สามารถทำให้อาการจากโรคมะเร็งดีขึ้น โดยอาจให้ร่วมกับยาที่ออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (Targeted Therapy) รวมถึงการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) โดยทั่วไปผู้ป่วยในระยะนี้จะมีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี

ดูแลสุขภาพอย่างไร ให้ห่างไกลมะเร็งกระเพาะอาหาร

การใส่ใจดูแลสุขภาพพื้นฐานในชีวิตประจำวัน เช่น การบริหารจัดการความเครียดอย่างเหมาะสม การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงอาหารที่มีการปรุงแต่งและแปรรูป ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หากทำเช่นนี้สม่ำเสมอก็จะช่วยให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันดีที สุขภาพแข็งแรง ซึ่งเป็นการช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ได้

สำหรับความเสี่ยงโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร เราควรดูแลสุขภาพเพิ่มเติมด้วยการหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายแม้เพียงเล็กน้อย เช่น อาการปวดท้อง ท้องอืด แน่นน้อง อาหารไม่ย่อย โดยไม่ปล่อยผ่าน ยิ่งหากมีอาการบ่อยๆ ควรรีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่แน่ชัด

แม้ในหลายๆ ครั้ง อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากการป่วยด้วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร แต่เป็นโรคอื่นๆ ในระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคกระเพาะอาหาร โรคกรดไหลย้อน ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมหรือปล่อยทิ้งไว้ก็อาจกลายเป็นโรคเรื้อรัง และเป็นปัจจัยเสี่ยงในการก่อให้เกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารอาหารในอนาคตได้เช่นกัน ทั้งนี้ ไม่ว่าเราจะมีอาการใดๆ หรือไม่มีอาการเลย การตรวจสุขภาพประจำปีจะช่วยคัดกรองให้พบความเสี่ยงหรือรอยโรคต่างๆ ได้ก่อนลุกลามรุนแรง ทำให้เราสามารถวางแผนการดูแลสุขภาพไปในทิศทางที่ถูกต้อง หรือรักษาโรคได้ทันท่วงทีในกรณีมีโรคหรือภาวะใดๆ ซ่อนอยู่ ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้มาก

 

โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร มักเป็นภัยเงียบที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวเพราะไม่แสดงอาการใดๆ ดังนั้นการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีและตรวจคัดกรองมะเร็งกระเพาะอาหารเมื่อถึงวัยที่เหมาะสม พร้อมกับหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย คือแนวทางการป้องกันโรคมะเร็งกระเพาะอาหารในระยะยาวได้